Beyond

AI ใกล้ตัว! ที่เราอาจไม่ทันรู้ว่าอยู่ในชีวิตประจำวัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีภาพยนตร์เรื่อง A.I. Artificial Intelligence ออกฉาย กำกับโดยพ่อมดฮอลลีวู้ด สตีเว่น สปีลเบิร์ก และนำแสดงโดยฮาร์ลีย์ โจเอล ออสเมนต์ เจ้าหนูมหัศจรรย์ (ในขณะนั้น) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่ถูกติดตั้งระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์เข้าไป จนมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์ ในตอนนั้นผู้ชมยังคิดว่า AI ดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อและไกลเกินจริง หารู้ไม่ว่าผ่านไปแค่ 2 ทศวรรษ เรื่องที่เราคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ก็กลายเป็นจริงแล้ว เพราะปัจจุบันเทคโนโลยี AI ถูกนำมาใช้ในหลากหลายมิติ ทั้งในภาคธุรกิจและชีวิตประจำวัน และนี่คือตัวอย่างของ AI ใกล้ตัวที่เราอาจไม่ทันรู้ว่าอยู่ในชีวิตประจำวัน

feed ในโซเชียลมีเดีย เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่า มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊ก แอบติดตั้งระบบดักฟังไว้หรือเปล่า ถึงได้รู้ใจว่าเราอยากได้หรือกำลังสนใจอะไร แต่จะดักฟังหรือไม่ดักฟัง ที่แน่ๆ ก็คือโซเชียลมีเดียต่างๆ มีระบบ AI ที่คอยตรวจจับและเรียนรู้ว่า user แต่ละรายมีความสนใจอะไร ทันทีที่คุณคลิกเข้าไปดูสินค้าอะไรสักอย่าง AI ก็จะจัดการ feed สินค้าชนิดเดียวกันนั้นมาให้คุณดูต่อรัวๆ ทันที จนคุณอาจบ่นว่า “สาระแนจริงเชียว!!!”

การตรวจจับใบหน้าในโซเชียลมีเดีย ยังคงอยู่กับโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ที่คุณคงเคยเจอประสบการณ์ว่า เวลามีเพื่อนโพสต์รูปที่มีคุณอยู่ด้วย เจ้าเฟซบุ๊กก็จะส่งข้อความมาว่า ตรวจพบใบหน้าของคุณในรูปดังกล่าว พร้อมกับถามว่าจะ tag ตัวเองไหม แสนรู้จนคุณอาจเผลอหลุดปากว่า “สาระแนจริงๆ” อีกครั้ง

การใช้งานอีเมลหรือแอพฯ โมบายล์แบงค์กิ้ง อีเมลหรือแอพฯ ของธนาคารเหล่านี้จะมีระบบ AI ไว้คอยเรียนรู้รูปแบบการใช้งานของเจ้าของบัญชี ถ้ามีรูปแบบการเข้าใช้งานที่ผิดไปจากเดิม เช่น มีการ log-in จากสถานที่ใหม่หรือสถานที่แปลกๆ มีการใช้งานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ที่ไม่ใช่เครื่องเดิม ระบบก็จะส่งข้อความมาให้ทำการยืนยันตัวตนว่าเจ้าของบัญชีเป็นผู้ใช้งานจริงๆ

การแนะนำสินค้าต่างๆ อันนี้คล้ายๆ กับ feed ในเฟซบุ๊ก เช่น เวลาเราช็อปปิ้งออนไลน์ในแอพฯ หรือเว็บซื้อขายสินค้า เช่น Shopee, Amazon ก็จะมีการแนะนำสินค้าในลักษณะเดียวกัน คล้ายๆ กัน หรือมีความเชื่อมโยงกัน มาให้เราเลือกซื้อ (เช่น สมมติเราซื้อจาน ก็อาจมีการแนะนำสินค้าพวกช้อนส้อมตามมา) สิ่งนี้เรียกว่า Recommendation System ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ของ AI เช่นกัน

การนำเสนอคำในประโยคที่เราพิมพ์ค้นหาใน Google หรือในโปรแกรม MS Word เช่น พอเราพิมพ์พยัญชนะหรือคำเริ่มต้นลงไป Google และ MS Word ก็จะอวดรู้เสนอคำที่น่าจะเป็นไปได้ให้เราโดยอัตโนมัติ แต่โปรแกรมนี้ต้องระวังดีๆ เพราะบางครั้งมันก็อาจเดาคำให้ผิด กลายเป็นคำที่ไม่พึงประสงค์ได้

Google Map กลายเป็นแอพฯ ที่ต้องติดไว้ในสมาร์ทโฟนทุกเครื่องแล้วสำหรับ Google Map ที่จะคอยค้นหาเส้นทางที่สั้นที่สุดหรือดีที่สุดให้เราเลือก (จริงหรือ??? เพราะหลายครั้งมันก็พาเราหลงและอ้อมโลกนะ)

การระบุตัวตนด้วยม่านตา เสียง ลายนิ้วมือ หน้า ภาษากาย สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ล้วนมีระบบยืนยันตัวตนในการเข้าใช้งาน เพื่อป้องกันโจรหรือบุคคลอื่นมานำสมาร์ทโฟนของเราไปใช้ในทางมิชอบ ด้วยการใช้วิธีระบุตัวตนต่างๆ ตามที่เราเลือก แต่ขอเตือนว่า งดใช้เสียงระบุตัวตนจะดีกว่า เพราะถ้าเกิดเป็นหวัด เสียงเปลี่ยน เสียงแห้ง อาจเปิดโทรศัพท์ใช้งานไม่ได้

ระบบวิเคราะห์สภาพอากาศในเครื่องปรับอากาศ เพิ่งเห็นข่าวไม่นานมานี้ว่ามีเครื่องปรับอากาศบางยี่ห้อติดตั้งระบบ AI เพื่อให้ AI เรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งาน จนสามารถวิเคราะห์สภาพห้อง แล้วปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างแม่นยำ ล้ำไปอี๊ก!!!

 BACK