HeSheIs

“ฝึกฝน” กมลวรรณ นรลักษณ์ ผู้ใช้การ “ฝึกฝน” โกอินเตอร์ฯ

ใครจะรู้เล่าว่า สาวน้อยชั้นปีที่ 1 คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้มีบุคลิกร่าเริงสดใสและออกจะขี้เล่นคนนี้ มีผลงานการถ่ายภาพในระดับอินเตอร์ฯ!
ฝึกฝน – กมลวรรณ นรลักษณ์ หรือที่เธอเรียกตัวเองย่อๆ ว่า “ฝน” มาเผยให้เห็นถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้บุคลิกภายนอก ซึ่งทำให้เรารู้ว่า อะไรทำให้เธอได้โกอินเตอร์ฯ

  จาก “ติ่งเกาหลี” สู่ “ช่างภาพมืออาชีพ” 
“ฝนรู้ตัวว่าชอบถ่ายภาพตั้งแต่ม.3 เพราะชอบถ่ายภาพเพื่อน ชอบถ่ายดาราเกาหลีที่ชื่นชอบ เลยขอแม่ว่า ถ้าสอบได้จะขอซื้อกล้องเพื่อมาถ่าย…
จนอยู่ ม.4 อายุราว 15-16 ปี มีพี่ที่เคยถ่ายภาพพรีเวดดิ้งด้วยกันชวนเข้าไปร่วมในทีมถ่ายภาพ ก็ไปถ่ายกันเรื่อยๆ จนถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากไปให้ถึงฝันก็คือ ได้ไปถ่ายภาพงานงานหนึ่ง แล้วมีพี่คนหนึ่งเห็นความสามารถและความตั้งใจของเราที่เดินถ่ายภาพจนเท้าเป็นแผล แต่ก็ยังเดินต่อไปได้ จึงนำภาพถ่ายของเราไปลงเว็บไซต์…
ตอนนั้นฝีมือยังไม่ดีมากและเราถ่ายแปลกมากกว่าคนอื่นแบบที่เรียกว่า Conceptual Art ซึ่งไม่เหมือนภาพพอร์เทรตทั่วๆ ไป เลยโดนคนเข้ามาด่าในเว็บแรงมาก เศร้าและร้องไห้แทบทุกวันจนหยุดถ่ายภาพไปเกือบปี แต่ต่อมาก็คิดได้ว่า เราผ่านอะไรมาเยอะมากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เราสู้ต่อไปได้เวลาที่เจออุปสรรค จากนั้นเลยตัดสินใจออกจากทีมพรีเวดดิ้งแล้วมาฝึกเองทั้งหมด”

  โกอินเตอร์ฯ ตั้งแต่ยังเรียนมัธยม!!! 
“ตอน ม.5 ฝนไปเดินถ่ายงานที่อิมแพคฯ แล้วเจอกับคนญี่ปุ่นคนหนึ่ง เขาเห็นความสามารถของเราก็ถามว่า อยากอยู่กับเอเจนซี่ญี่ปุ่นและอยากทำงานคิดคอนเซ็ปต์กับทั่วโลกไหม ตอนแรกก็ยังไม่ได้รับ จนผ่านไปหลายเดือน ฝนได้ไปเป็นติ่งคอนเสิร์ต GOT7 ปรากฏว่าไปเจอกับเอเจนซี่ญี่ปุ่นคนนี้และเขาก็ชวนอีก ฝนเลยลองไปทำดูเพื่อเป็นการฝึกฝนและศึกษาไปเรื่อยๆ ซึ่งเขาบอกว่า ที่เลือกเราเพราะเรามีความตั้งใจและมีความมุ่งมั่นมาก และยิ่งเราเป็นเด็ก คนทั่วไปอาจมองว่าเราคงทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้คนอื่นเชื่อให้ได้ว่าเราทำได้…
หน้าที่ของฝนคือ คิดคอนเซ็ปต์แฟชั่นให้กับนิตยสาร โดยพอฟังเขาบรีฟงานมา ก็ต้องวาดรูปหรือหา reference ให้เขาเพื่อให้พอมองเห็นทิศทางของภาพ จากนั้นก็หานางแบบ และบางครั้งก็ต้องถ่ายภาพเองด้วย ซึ่งงานนักออกแบบคอนเซ็ปต์แฟชั่นนี้คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักกันเท่าไร…
ฝนร่วมงานกับต่างชาติครั้งแรกได้ 1 ปีนิดๆ ช่วงเกิดโควิดใหม่ๆ คือการทำงานสามารถทำจากที่ไหนก็ได้ โดยครั้งแรกได้ออกแบบคอนเซ็ปต์แฟชั่นให้นิตยสารของฮ่องกง จากนั้นก็ได้ทำงานกับทางอิตาลี ฮ่องกง และเกาหลี ตอนได้ทำครั้งแรกกับชาวต่างชาติก็ตื่นเต้นมากเพราะต้องเข้าประชุม เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เพราะภาษาของเราก็ไม่ได้ดีมาก ดังนั้นถ้าไม่เข้าใจก็ต้องบอกเขาตรงๆ ว่าเราไม่เข้าใจ ซึ่งเขาก็เข้าใจเรา เพราะเวลาชาวต่างชาติทำงาน เขาจะไม่เอาอารมณ์มาเกี่ยวข้อง”

 เข้าตาต่างชาติตรงที่ความไม่เหมือนใคร 
“งานของฝนจะมีเอกลักษณ์ตรงการจับคู่สีของพร็อพทุกชิ้น และของทุกชิ้นที่นำมาวางต้องมีความหมาย ซึ่งฝนมองว่านั่นเป็นเสน่ห์ของการถ่ายแฟชั่น นั่นคือของทั้งหมดในภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า นางแบบ หรือคอนเซ็ปต์ มีทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตทุกอย่างอยู่รวมกัน…
ถ้าถามว่าอะไรคือเอกลักษณ์การถ่ายภาพของฝน ก็น่าจะเป็นเรื่องการที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว เพราะการถ่ายภาพเป็นมุมมองส่วนบุคคล มีความหมายแตกต่างกันออกไป ไม่ได้เป็นเรื่องของวิชาการ แต่เป็นเรื่องของความอิสรเสรีทางไอเดีย คนไทยส่วนมากมักจะบอกว่าผลงานฝนไม่ค่อยสวย ฝนจึงไม่ค่อยรับงานของไทย เพราะอยากเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด”

 ภาพจะดีหรือไม่อยู่ที่มุมมอง ไม่ใช่อุปกรณ์ 
“กล้องแต่ละตัวมีเอกลักษณ์ต่างกันมาก เลยอยากให้ทดลองใช้งานกัน อย่างไรก็ตามทุกคนมีมุมมองที่ต่างกัน อยู่ที่การปรับและการเข้าหากล้อง ไม่ใช่ให้กล้องเข้าหาเรา ทุกอย่างเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวก แต่สุดท้ายอยู่ที่ตัวเราและมุมมอง ไม่ว่าใช้กล้องไหน ราคาเท่าไร ก็สามารถถ่ายออกมาให้สวยได้”

 ชอบถ่ายภาพ แต่กลับเลือกเรียนฟิล์ม??? 
“ฝนมีความฝันอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกอยากเป็นดีไซเนอร์ แต่พอได้มาฝึกถ่ายภาพก็พบว่า เป็นอีกสิ่งที่ท้าทายมาก แต่ที่มาเรียนฟิล์มเพราะอยากทำงาน 2 อย่างไปพร้อมๆ กัน นั่นคือ ช่างภาพแฟชั่นและรับคิวเสริมเป็นตากล้องและผู้กำกับภาพในหนัง โดยจะนำมุมมองการถ่ายภาพที่เป็น Conceptual Art ของเรามาอยู่ในวิดีโอด้วย ซึ่งการเลือกมาเรียนคณะฟิล์มที่ ม.กรุงเทพ ทำให้เรามีคอนเนกชั่นที่ดี คณะมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และเป็นที่ที่ให้อิสระทางความคิด…
อนาคตฝนอยากเป็นช่างภาพถ่ายแฟชั่น โดยเอาทักษะมามิกซ์กับความฝันอีกอย่างคือการเป็นดีไซเนอร์ ส่วนการมีมุมมองของหนังด้วยก็ทำให้เรามีออปชั่นมากขึ้น เพราะฝนเชื่อว่า คนเราสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างและพัฒนาทุกอย่างไปพร้อมกันได้ โดยไม่ควรหยุดนิ่งอยู่กับที่”

 ฝีมือของ “ฝึกฝน” ที่มาจากการ “ฝึกฝน” 
“ฝนเป็นคนค่อนข้างมีโลกส่วนตัวสูง ดังนั้นจึงต้องคุยกับลูกค้าให้รู้เรื่องก่อน ถ้าไม่รู้เรื่องเราก็จะขอถอนตัวออกจากการทำงานนั้น ถึงจะมีโลกส่วนตัวสูง แต่เวลาทำงานก็สามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ทุกคน แต่สิ่งที่ทำให้โมโหจริงๆ คือคนที่ไม่ตรงเวลา เพราะเวลาทำงานจะเป็นคนซีเรียส ฝนคิดว่าการที่เราอยู่ในโลกส่วนตัวของเราจะทำให้คิดอะไรต่างๆ ได้ และเห็นงานตัวเองมากขึ้น อะไรที่พลาดไปแล้วก็ปล่อยไป แล้วทำงานใหม่ให้ดีขึ้น…
ที่ผ่านมาได้รับคำชมว่า แม้เราจะใช้ภาษาอังกฤษไม่เก่ง แต่เราก็ทำงานดี ละเอียด และยินดีแก้ไขงานถ้าถูกท้วงติง นอกจากนี้เขายังชมตลอดว่า อายุน้อยทำไมถึงทำได้ขนาดนี้ นั่นเพราะเราใช้ความพยายามมากขึ้นและไม่เคยหยุดพัฒนาค่ะ”

 ใครอยากเห็นผลงานการถ่ายภาพสไตล์ Conceptual Art ของฝึกฝน สามารถเข้าไปติดตามได้ที่ IG เสิร์ชหาแอคเคานต์ 50.7021 ที่เธออธิบายว่า 50 คือเลนส์ตัวแรกที่คุณแม่ซื้อให้และเปรียบเป็นแรงบันดาลใจที่เปลี่ยนชีวิต ส่วน 70 คือ 70/200 ซึ่งเป็นรุ่นเลนส์ในฝันที่ราคาแพงมาก ขณะที่ 21 เป็น Lucky Number ส่วนตัวของเธอ
แล้วจะได้รู้ว่า สิ่งที่พาให้เธอไปไกลถึงระดับอินเตอร์ฯ ไม่ได้มาจากไหน แต่มาจากการไม่หยุด “ฝึกฝน” ของ “ฝึกฝน” นั่นเอง 

 BACK