Alumni

“เพื่อนดี สังคมดี อาจารย์ดี คือแรงผลักดันของผม”

Jutikun Saeheng

จุติคุณ แซ่เฮง
เจ้าของร้าน “หมูทอดติดฟัน” ร้านสุดฮิตของเด็กบียู

ผมเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ เอกบรอดแคสติ้ง เมื่อประมาณปี 2554 ตอนนั้นผมมาจากอุทัยธานี เดิมทีเป็นคนไม่ค่อยตั้งใจเรียน ได้เกรดไม่ถึง 2.00 พออยู่ ม.6 ก็ไม่อยากเรียนแถวบ้านเพราะที่บ้านดูแลเราดีจนรู้สึกสบายเกินไป คอนซัพพอร์ตตลอด หาข้าว ซักผ้า ดูแลให้ทุกอย่าง ไม่ได้ถึงสปอยล์มาก แต่รู้ดีว่าถ้าวันหนึ่งผมลำบาก ยังไงก็มีคนมาช่วย ผมอยากให้ตัวเองดีขึ้น เลยอยากลองออกมาหาอะไรลำบากๆ บ้าง

Jutikun Saeheng

ผมจึงขอมาเรียนที่กรุงเทพฯ โดยตั้งใจมาที่ม.กรุงเทพเลย ยอมรับว่าตอนปี 1 อยากเลิกเรียนมาก เพราะต้องเรียนเลข เรียน Stat ที่ผมเกลียดมาก โชคดีว่าเจอกลุ่มเพื่อนที่ตั้งใจเรียนกันหมด เป็นประธานชมรม ทำกิจกรรมโน่นนี่ และจบเกียรตินิยมแทบทุกคน วันไหนผมไม่มาเรียนหรือบอกว่าไม่ไหว เพื่อนๆ ก็จะช่วยกันติวเพื่อพาเราไป เชื่อไหมครับว่า สังคม ม.กรุงเทพ พาผมที่ไม่เคยได้เกรดถึง 2.00 ให้ได้เกรดเกิน 2.00 จนในที่สุดก็ได้ 3 กว่า ผมมีเพื่อนดี สังคมดี อาจารย์ดี จนกลายเป็นแรงผลักดันให้ผมตั้งใจมากขึ้น

Jutikun Saeheng

ตอนแรกผมเข้าใจว่าการเรียนที่นี่น่าจะง่าย แต่ไม่ใช่เลย ใครไม่ผ่าน อาจารย์ก็ไม่ปล่อย ผมเรียนกับอาจารย์อัฏฐ์ (อัฏฐ์ กู้พงษ์ศักดิ์) ท่านพูดประโยคหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตผมเลย คือผมมักโดนถามว่าเรียนนิเทศจะไปทำอะไร อ.อัฏฐ์ก็บอกว่า การเรียนนิเทศไม่ได้ให้เป็นดาราหรือทำงานสายบันเทิงเท่านั้น แต่สอนให้คิดเป็นเอกเทศ แตกต่าง การคิดแตกต่างอย่างสร้างสรรค์จะทำให้ได้เปรียบคนอื่น ซึ่งตอนนั้นมหา’ลัยก็ชูความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความสร้างสรรค์พอดี ตั้งแต่นั้นมาผมก็ตั้งใจเรียนมาโดยตลอด ตอนปี 2-3 ผมไปลงเรียนฟิล์ม แล้วชอบมาก พอปี 3 ได้ออกพื้นที่ไปทำสารคดีบ่อยๆ เกี่ยวกับคดีการเมือง สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวข้อที่ยากมาก แต่อาจารย์ท่านก็สอนว่า ผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร ขอให้เราทำทุกอย่างให้เต็มที่ก็พอ ปรากฏว่าพอเราทำเต็มที่ งานของเราก็ถูกเปิดให้ Sec อื่นดู มหา’ลัยอื่นดู ได้รับคำชม ทำให้ผมภูมิใจมาก

Jutikun Saeheng

ต่อมาได้ฝึกงานที่ทีวีบูรพา ตอนนั้นมีวิกฤติน้ำท่วม ได้ออกไปช่วยชาวบ้าน ทำให้ผมมานั่งคิดดูว่า มันเป็นอย่างที่อ.อัฏฐ์บอกไว้จริงๆ ว่า เรียนนิเทศไม่จำเป็นต้องไปทำงานสายบันเทิงเสมอไป พอเรียนจบผมจึงออกมาทำธุรกิจของตัวเองเลย ตอนแรกผมรับขายรับฝากมือถือ ตรงร้านหมูทอดติดฟัน ซอยรังสิตภิรมย์นี้แหละครับ ตอนนั้นมี 7-8 ร้านติดๆ กัน ร้านอื่นเปิดจันทร์ถึงเสาร์ เปิด 11 โมงถึง 3 ทุ่ม ผมก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรให้แตกต่างเหมือนที่อาจารย์เคยสอน เลยเปิดวันจันทร์ถึงอาทิตย์ และเปิด 24 ชั่วโมงเลย ทำให้ประสบความสำเร็จดีมาก

Jutikun Saeheng

จากนั้นก็มาทำอาหารขาย ตอนแรกทำไก่ทอดขาย และวันหนึ่งก็ลองเอาหมูมาทอดขายเล่นๆ ปรากฏว่าหมูทอดขายหมดภายในครึ่งชั่วโมง หลังจากหยุดขายหมูทอดไปพักหนึ่ง ก็มีน้องบางคนมาถามว่าไม่ขายแล้วเหรอ จนมีคนที่ 2, 3, 4, 5 มาถาม เลยคิดว่าทำจริงจังเลยดีกว่า โดยทำรถเข็นให้ดูดีไปเลย ให้ดูเหมือนแฟรนไชส์ มีการติดไฟประดับ เริ่มขาย 10 กิโลก่อน วันแรกขายหมดภายใน 3 ชั่วโมง เราก็—เฮ้ย…เกิดไรขึ้น ทำไมขายได้ ก็มาวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียกัน โดยสูตรอาหารก็ช่วยกับเพื่อนสองคน—อันนี้เค็มไปนะ ทอดนานความ juicy หาย เอาตัวเราเป็นที่ตั้ง เพราะผมเป็นคนซีเรียสเรื่องการกิน เราชอบแบบไหนก็ให้ลูกค้าทานแบบนั้น อีกอย่างคือถ้าเราทำอะไรแตกต่างจากชาวบ้านก็จะไปได้ไว เช่น เมื่อก่อนแถวนี้มีร้านรถเข็นเป็น 10 ร้าน ทุกร้านเงียบหมด มีร้านผมร้านเดียวที่คอยเรียกลูกค้า—หมูทอดมั้ยครับ ชิมก่อนไม่ซื้อไม่ว่าครับ มีการทำการตลาด กดไลก์กดแชร์ในเฟซบุ๊กลดให้ 5 บาทต่อ 1 คน น้องๆ ก็บอกกันปากต่อปาก จนเรากลายเป็นร้านประจำของเด็กมอ ส่วนชื่อร้าน “หมูทอดติดฟัน” ตอนแรกก็โดนทักว่าจะดีหรือ ชื่อมันติดลบนะ แต่ผมมองว่าลูกค้าเป็นวัยรุ่น ถ้าตั้งชื่อหมูทอดคุณลำดวน อาจดูโบราณ (หัวเราะ) แต่ถ้าผลตอบรับไม่ดี ก็พร้อมแก้ไขปรับตัว ปรากฏว่ากลายเป็นชื่อติดปาก

Jutikun Saeheng

ผมคิดว่าที่เราประสบความสำเร็จก็เพราะรสชาติอาหารบวกกับการบริการ อย่างลูกค้าเดินมาร้อนๆ ต้องทำให้อารมณ์ดีก่อน ผมเลยติดแอร์ 4 ตัวเลย ค่าไฟอาจจะสูง แต่ฟีดแบ็คดี อากาศดี บริการดี อาหารรสชาติดี เป็นโอกาสดีที่ดึงลูกค้า ตอนแรกขายแต่หมูทอด ก็มาคิดกันว่าจะขยายอะไรได้อีก เลยเพิ่มต้มเล้งเข้ามา แต่เราชิมกันอยู่เป็นเดือนสองเดือนกว่าจะเอาออกมาขาย เพราะทำยังไงก็ไม่หอมอร่อย ตอนแรกเราใช้มะนาวขวด จนวันนึงผมลืมซื้อมา เลยไปซื้อมะนาวลูกๆ แถวนี้มาคั้นใส่ ปรากฏว่ากลิ่นมาเต็ม รู้เลยว่าเราต้องใช้ของสดที่มีคุณภาพเท่านั้น ส่วนพริกก็ต้องใช้พริกเขียวที่มาจากสวนจันทบุรีเพราะหอมกว่าที่อื่น เราจะเด็ดพริกตอนเช้าเพราะยังสดอยู่ มะนาวก็คั้นเช้า ส่วนหมู เราใช้ส่วนแถวๆ คอเพราะจะนุ่มกว่า แต่พอต้มแล้วจะออกเป็นสีชมพู ดูเหมือนไม่สุก เราก็ต้องคอยอธิบายลูกค้าว่าสุกแล้ว เราต้มหมูตั้งแต่ตี 5 ขายตอน 9 โมงครึ่ง เพื่อให้หมูเปื่อยนุ่ม

Jutikun Saeheng

ธุรกิจอาหาร การบริการกับรสชาติอาหารต้องมาคู่กัน เราจึงให้พนักงานคอยใส่ใจลูกค้า ลูกค้านั่งเมื่อไรจะต้องได้อาหาร ได้น้ำแข็ง ข้าวต้องตักออกจากหม้อเท่านั้น ไม่มีการตักรอ เพราะแอร์ในร้านจะทำให้ข้าวเย็น ส่วนหมูก็ต้องร้อน เราเลยใช้หม้อไฟ เวลาจุดไฟ กลิ่นมะนาวจะออก พอกลิ่นเตะจมูกปุ๊บ น้ำลายจะสอ ผมยอมจ้างพนักงานเยอะเพื่อรักษาคุณภาพไว้ ลูกค้าคนไหนทานไม่หมด เราจะเต้นแล้วว่าเกิดจากอะไร มะนาวหรือเปล่า น้ำปลาหรือเปล่า ถ้ารสชาติเพี้ยนก็ต้องปรับปรุง นอกจากนี้เรายังจำกัดการขาย พนักงาน 1 คนไม่ควรทำเกิน 100 หม้อ ไม่งั้นจะเริ่มคุมรสชาติไม่ได้ ทุกขั้นตอนผ่านการคิด ไม่ใช่บังเอิญ

ในชีวิตการทำงานของผม ผมพลาดไปนิดตรงที่ไม่ได้ทำงานในระบบหรือเป็นลูกน้องใครมาก่อน ทำให้ต้องลองผิดลองถูกเองทุกอย่าง จึงเป็นธรรมดาที่ต้องพลาด ล้มเอง เจ็บเอง เลยคิดว่าถ้าทำงานตามระบบก่อนสักปีสองปีน่าจะดีกว่า ดังนั้นน้องๆ คนไหนจบมา อยากให้ลองทำองค์กรใหญ่ๆ ก่อนเพื่อเก็บประสบการณ์

Jutikun Saeheng

เราเคยเป็นเด็กไม่เอาไหนมาก่อน พอเราประสบความสำเร็จ ที่บ้านเขาก็ดีใจ ทุกวันนี้ผมต้องการแค่ว่าตัวเราโอเค หุ้นส่วนโอเค คนรอบข้างและพนักงานในร้านโอเค ไม่ต้องทำงานแข่งกับใคร แต่แข่งกับตัวเอง รับผิดชอบงานตัวเองให้ดีก่อนก็พอ เดี๋ยวผลดีก็ตามมาเอง เรื่องเงินเป็นเรื่องสอง เรื่องงานเป็นเรื่องหนึ่ง นี่คือสิ่งที่มหา’ลัยสอนผมมา

ผมต้องขอบคุณม.กรุงเทพที่เป็นสังคมการเรียนรู้จริงและความสร้างสรรค์จริงๆ รวมทั้งคณะอาจารย์และสังคมเพื่อนที่คอยดึงฉุดกันมา อย่างการรณรงค์เก็บจานในโรงอาหาร นิสัยเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้แหละครับที่ไม่ควรมองข้าม เพราะมันจะนำเราไปทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

 BACK