Beyond

ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในชีวิตประจำวันที่ห้ามมองข้าม!!!

เมื่อพูดถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ หลายคนมักนึกถึงการโดนแฮกข้อมูลโดยบรรดาแฮกเกอร์เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในทางที่มิชอบเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าพูดถึงความหมายที่แท้จริงจะพบว่า การคุกคามทางไซเบอร์ครอบคลุมทุกการกระทำที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมไปใช้ในทางที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งถ้ายึดความหมายตามนี้จะเห็นว่า การแฮกข้อมูลเป็นเพียงหนึ่งในการกระทำเหล่านั้น แต่อันที่จริงๆ ยังมีภัยรายวันอีกมากมายที่เราไม่อาจมองข้าม!

Pirated Software
หลายคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าการกระทำของตัวเองก็เข้าข่ายภัยคุกคามทางไซเบอร์ นั่นคือ การละเมิดลิขสิทธิ์ของซอฟต์แวร์ต่างๆ นั่นเอง ไม่ว่าจะด้วยจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ใช้งานหรือมาตรการที่ไม่เข้มงวดขององค์กร โดยประเทศไทยถูกขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการลักลอบใช้ซอฟต์แวร์อย่างผิดกฎหมายสูงที่สุดประเทศหนึ่ง นอกจากตัวบทกฎหมายที่ต้องบังคับใช้อย่างจริงจังแล้ว การปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่ผู้ใช้งานจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลย

Phishing
ดูคล้ายๆ คำว่า Fishing ใช่ไหม ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น เพราะการคุกคามแบบนี้ก็ไม่ต่างจากการตกปลาด้วยการล่อเหยื่อให้มากินเบ็ด ซึ่งก็คือการส่งอีเมลหรือเว็บไซต์ไปหลอกล่อให้เหยื่อคลิก จากนั้นอาจหลอกให้เหยื่อเผยข้อมูลลับต่างๆ ของตน หรือไม่ก็ส่งโปรแกรมสำหรับการแฮกไปให้ติดตั้งลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วแฮกเกอร์ก็เข้าไปล้วงข้อมูลออกมา ข้อนี้นับว่าแพร่ระบาดมากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะเป็นวิธีที่ทำให้เหยื่อหลงกลได้ง่าย

Ransomware
หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า “ไวรัสมัลแวร์เรียกค่าไถ่” ข้อนี้ก็ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ โดยแฮกเกอร์จะส่งมัลแวร์ (Malware) ไปให้เหยื่อติดตั้งลงในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยไม่รู้ตัว เช่น การให้เปิด Spam Mail หรือการให้คลิกลิงก์แปลกๆ เป็นต้น จากนั้นแฮกเกอร์ก็จะเข้าไปขโมยข้อมูลของเหยื่อ พร้อมกับเรียกค่าไถ่จากเหยื่อเพื่อแลกกับการคืนข้อมูล เหตุการณ์โจรกรรมที่ฮือฮามากเมื่อไม่นานนี้ก็คือ กรณีโรงพยาบาลสระบุรีโดนแฮกข้อมูลผู้ป่วยเพื่อแลกกับเงิน 63,000 ล้านบาท

Fake News
ปัจจุบัน Fake News หรือข่าวปลอมเป็นปัญหาระดับชาติและระดับโลก แต่ละวันมีข่าวปลอมเผยแพร่ในโลกโซเชียลจำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งข่าวปลอมพวกนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในการคุกคามทางไซเบอร์ เพราะเป็นการส่งต่อข้อมูลข่าวสารเท็จผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เนตที่บางครั้งอาจสร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงได้หากมีคนหลงเชื่อ ใครที่สร้างข่าวปลอมพึงระวังให้ดี เพราะไม่เพียงสร้างความเสียหายให้ผู้อื่น ถ้าถูกจับได้ ยังมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีกด้วย

Man-in-the-Middle Attacks
ขณะกำลังทำธุรกรรมอะไรสักอย่างทางมือถือ หลายคนคงเคยเจอข้อความเตือนเด้งขึ้นมาว่า ขอให้หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมโดยการเชื่อมต่อ Wi-Fi สาธารณะ นั่นเพราะมีโอกาสที่จะถูกโจมตีโดยแฮกเกอร์ที่ปลอมเป็นคนกลางเข้ามาแทรกสัญญาณการรับส่งข้อมูลระหว่างผู้ใช้ (บราวเซอร์) และเซิร์ฟเวอร์ เพื่อลักลอบดักฟังหรือขโมยข้อมูลของเหยื่อไป วิธีเบื้องต้นในการเลี่ยงปัญหานี้ก็คือ การใช้เครือข่ายอินเทอร์เนตที่มีการป้องกันด้วยรหัสผ่านนั่นเอง

Password Guessing
เลิกได้แล้วกับการตั้งรหัสผ่าน (Password) ว่า 1234567 เพราะมิจฉาชีพจะมีความชาญฉลาดในการเดารหัสผ่านได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมหลายๆ แอคเคานต์มักระบุว่า รหัสผ่านต้องประกอบไปด้วยตัวอักษรหรืออักขระพิเศษอะไรบ้าง ก็เพื่อให้เดารหัสผ่านได้ยากขึ้นนั่นเอง ข้อแนะนำคือควรตั้งรหัสผ่านให้ยากๆ เข้าไว้ รหัสจำพวกวันเดือนปีเกิดของตัวเองควรเอาเก็บเข้าลิ้นชักไปซะ การตั้งรหัสผ่านเหมือนกันในทุกๆ แอคเคานต์ก็เป็นอะไรที่อันตรายมาก


ฝากไว้อีกข้อคือ รหัส CVV 3 หลักหลังบัตรเครดิต ก็ควรหาทางปกปิดไว้ เช่น ใช้ลิควิดลบออก แล้วจดรหัสแยกไว้ต่างหาก เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพลักลอบจดทั้งหมายเลขบัตรเครดิตและ CVV ไปใช้รูดซื้อสินค้า เพราะการกระทำของมิจฉาชีพในรูปแบบนี้ก็ถือเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์เช่นกัน

ขอบคุณภาพประกอบจาก www.pixabay.com

 BACK