ความสำคัญของ CG หรือ Computer Graphic ที่คุณอาจคาดไม่ถึง
ใครเป็นคอหนัง คอละคร คงจะเห็นว่า ปัจจุบันเทคนิคสร้างภาพพิเศษหรือที่เรียกกันว่า CG (Computer Graphic) นั้นถูกใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในละครและหนังแนวไซไฟ เช่นละครเรื่องนาคีหรือหนังแนวซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลาย รวมทั้งละครที่เพิ่งลาจอไปหมาดๆ อย่าง สองเสน่หา ที่เนรมิตให้นางเอก-คิมเบอร์ลี ปรากฏบนหน้าจอพร้อมกันในฐานะฝาแฝดได้อย่างแนบเนียน
แต่จะรู้บ้างหรือไม่ว่า อันที่จริงแล้ว CG ถูกนำมาใช้ในหนังและละครหลายๆ เรื่องโดยที่เราอาจแทบไม่รู้ว่านั่นคือ CG ยกตัวอย่างเช่นฉากวิวทิวทัศน์สวยตระการตาต่างๆ ที่บางคนอาจเข้าใจว่าไปถ่ายทำในสถานที่จริง แต่หลายๆ เรื่องกลับใช้เทคนิคสร้างภาพพิเศษหรือ CG แทน เพื่อเป็นการประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ข้อเท็จจริงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดงานด้านดิจิทัลมีเดียเติบโตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไทยที่หลายคนอาจไม่รู้ว่า เรานั้นเป็นฐานการผลิต CG ของเอเชีย แต่ละปีสร้างมูลค่าตลาดมหาศาล ดังนั้นมหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงได้เปิดสาขาสื่อดิจิทัลขึ้นในคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ เพื่อสอนด้านนี้โดยตรง
และเพื่อให้เห็นว่า CG มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมบันเทิงมากเพียงใด จึงจะขอยกตัวอย่างหนังที่หลายคนคาดไม่ถึงว่า ฉากต่างๆ ที่เห็นนั้นเป็น CG ล้วนๆ!
Vincenzo
ซีรีส์สัญชาติเกาหลีสุดฮิตใน Netflix ที่นำแสดงโดย ซงจุงกิ จอนยอบิน และ อกแทคยอน นั้น มีฉากหลังเป็นวิวทิวทัศน์ที่แสนจะงดงามของประเทศอิตาลี ใครที่ดูคงนึกว่า ยกกองไปถ่ายทำกันถึงแดนมักกะโรนีเป็นแน่แท้ แต่ลืมไปหรือไม่ว่า ขณะที่ซีรีส์เรื่องนี้ถ่ายทำอยู่เป็นช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด การเดินทางไปถ่ายทำยังต่างประเทศแทบเป็นไปไม่ได้ แน่นอนว่าฉากวิวประเทศอิตาลีที่เห็นทั้งหมดในซีรีส์เรื่องนี้สร้างสรรค์จาก CG ล้วนๆ (ชมเทคนิคการสร้างภาพพิเศษได้ตามลิงก์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=0eQz7orIi8Q)
Fast & Furious 7
ในตอนท้ายของหนังดังเรื่องนี้ เป็นฉากที่ตัวเอกของเรื่องสองคน นั่นคือ วิน ดีเซล และ พอล วอล์กเกอร์ ขับรถมาถึงทางแยก โดยก่อนที่จะแยกย้ายจากกัน ทั้งสองก็หันมาสบตาล่ำลากันโดยเห็นใบหน้าของพอล วอล์กเกอร์ แบบชัดๆ ซึ่งชอตนั้นเป็นการใช้ CG สร้างใบหน้าของพอล วอล์กเกอร์ ขึ้นมา เนื่องจากก่อนที่หนังจะถ่ายทำจบ พระเอกหนุ่มได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต ทีมงานจึงต้องใช้ CG มาแก้ปัญหานั่นเอง
Herbie: Fully Loaded
ด้วยความที่หนังเมื่อปี 2005 เรื่องนี้เป็นของค่ายดิสนีย์ซึ่งเป็นค่ายหนังที่มักสร้างหนังใสๆ สำหรับเด็ก หรือเป็นหนังที่ไม่มีพิษภัยเหมาะกับทุกเพศทุกวัย โดยผู้ที่นำแสดงในหนังเรื่องนี้คือ ลินเซย์ โลแฮน ที่กำลังโด่งดังมากในยุคนั้น แต่เพราะสัดส่วนของเธอค่อนข้างล้นเกินมาตรฐานเด็กสาววัยเดียวกัน ทำให้ผู้สร้างตัดสินใจใช้ CG ลดขนาดหน้าอกของลินเซย์ในเรื่องให้เล็กลง เพื่อที่เด็กๆ จะดูได้อย่างสบายใจ
Zodiac
หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 1969 มีฉากหลังเป็นเมืองซานฟรานซิสโก ผู้ชมคงนึกชื่นชมทีมงานว่าสามารถหาโลเกชั่นที่ดูย้อนยุคได้เก่งจริงๆ แต่อันที่จริงแล้วฉากเมืองซานฟรานซิสโกในสมัยยังไม่เจริญรุ่งเรืองเช่นปัจจุบันถูกใช้ CG มาแต่งภาพทั้งหมด ทำให้ซานฟรานซิสโกในเรื่องดูเหมือนปี 1969 อย่างสมจริง และหนังย้อนยุคอีกหลายๆ เรื่องต่างก็ใช้ CG ในการสร้างภาพฉากในอดีตเช่นเดียวกับหนังเรื่องนี้
Kingsman: The Secret Service
หนังแอ็คชั่นสายลับสุดมันเรื่องนี้มีฉากบู๊ระห่ำมากมาย ซึ่งคงเดากันได้ว่า ฉากเหล่านั้นต้องใช้เทคนิค CG มาช่วยแน่ๆ แต่ใครจะไปรู้เล่าว่า ฉากบ้านหลังใหญ่ตั้งอยู่ริมน้ำที่ทีมงานคงสามารถไปหาบ้านของมหาเศรษฐีสักคนมาถ่ายทำได้ง่ายๆ ก็กลับสร้างจาก CG โดยบ้านหลังจริงเป็นคฤหาสน์ขนาดใหญ่หน้าตาเชยๆ ธรรมดาๆ แต่ทีมงานก็ใช้ CG มาแต่งหน้าแต่งตาบ้านหลังนี้เสียใหม่จนดูโมเดิร์นอลังการอย่างในภาพ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของงาน CG ที่แทรกซึมอยู่ในหนังแทบทุกเรื่อง ทั้งแบบที่ผู้ชมรู้ตัวและไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมสาขาสื่อดิจิทัลถึงน่าเรียน เพราะนอกจากจะสร้างความสนุกและเติมเต็มจินตนาการให้แก่ผู้ที่ชื่นชอบงานด้านนี้ แต่ยังรับประกันด้วยว่า เรียนจบไปแล้วมีงานทำแน่นอน
(ขอบคุณภาพ Cover ของ Alec Favale และ Marcus Löfvenberg จาก www.unsplash.com)