อ.บอล-ทชภณ ประภานนท์ ครูพันธุ์ใหม่ขวัญใจนักศึกษา
ถ้าพูดถึงครูรุ่นใหม่ซึ่งเด็กนิเทศฯ พูดถึงมากที่สุด เชื่อว่าต้องมีชื่อของอาจารย์บอล-ทชภณ ประภานนท์ เป็นหนึ่งในนั้นแน่ๆ
จริงอยู่ว่าเรื่องรูปร่างหน้าตาของอ.บอลอาจมีผลต่อระดับเดซิเบล แต่ถ้ามองลึกไปกว่านั้น อ.บอลกับนักศึกษามีวัยใกล้เคียงกัน จึงเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมากมายเหมือนครูรุ่นเก่า ทำให้นักศึกษากล้าเข้าหาและให้ความสนิทชิดเชื้อ ซึ่งทำให้เขากลายเป็น “ครูพันธุ์ใหม่” ตามที่ม.กรุงเทพคาดหวัง
จากนักศึกษาม.กรุงเทพสู่ตำแหน่งอาจารย์
ผมจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ระหว่างเรียนได้ทำละครนิเทศและเล่นละครเวทีเรื่อง คู่กรรม เดอะมิวสิคัล ของ Dreambox ในปี 2546 เพราะชอบดนตรีและมีทักษะการร้องเพลงมาบ้าง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้มีโอกาสร่วมงานในวงการบันเทิงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เช่น ละครเรื่อง สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย รอยรักแรงแค้น ฯลฯ รวมทั้งไปเป็นสตาฟในอีเว้นท์ต่างๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย พอจบป.ตรีก็ไปเรียนต่อป.โททางด้านเอเชียแปซิฟิกศึกษาที่ University of San Francisco อเมริกา ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และวรรณกรรมของประเทศแถบนี้โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลี หลังจากกลับมาก็ได้รับการชักชวนจากอาจารย์ท่านหนึ่งให้มาสอนที่คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ
BALL
Tashapon
จากวงการบันเทิงสู่สถาบันการศึกษา
ตอนเรียนป.ตรีอยากเป็นนักดนตรี นักร้อง แต่พอไปเรียนป.โท ได้เห็นระบบการเรียนการสอนที่มีคุณภาพของที่นั่น ก็เริ่มตั้งคำถามกับการศึกษาไทย เพราะเราเคยคิดว่าตัวเองเก่งในระดับหนึ่ง แต่พอไปถึงโน่นกลับไม่รู้เรื่องอะไรเลย สุดท้ายพบว่าเกิดจากการเรียนของไทยไม่สอนให้ฝึกใช้ แต่แค่ให้จำไปสอบ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้อยากเป็นอาจารย์ โดยตั้งใจนำประสบการณ์จริงที่เราเคยทำในวงการมาสอนเด็กๆ ซึ่งพอได้มาเป็นอาจารย์เต็มตัวก็รู้สึกรักอาชีพนี้มาก เป็นงานที่ยอมทุ่มเทให้ แต่ก็ต้องปรับทัศนคติเยอะเหมือนกัน เพราะเดิมทีเราเคยทำงานที่รู้สึกชิลๆ ทำเสร็จก็จบ แต่การเป็นอาจารย์มีภารกิจมากกว่านั้นในการติดตามพัฒนาการของเด็ก ดีที่ว่าเป็นสิ่งที่เราชอบ ทำแล้วทำได้ดี ฟีดแบ็คจากเด็กๆ โอเค ทำให้เรามีความสุขกับการทำงาน ตอนแรกตั้งใจจะทำงานในวงการควบคู่ไปด้วย แต่คิดว่าถ้าเราทำหลายอย่างพร้อมกันอาจไม่ดีสักอย่าง เลยอยากโฟกัสงานสอนเป็นหลัก แล้วถ้ามีเวลาว่างค่อยไปทำอย่างอื่น ถ้าไม่มีก็ขอทุ่มให้กับตรงนี้ดีกว่า
จากอาจารย์ประจำคณะสู่หัวหน้าหลักสูตรการผลิตสื่อนวัตกรรม
(Innovative Media Production)
ก่อนหน้าที่จะมาเป็นหัวหน้าหลักสูตร ผมสอนวิทยุโทรทัศน์มาก่อน โดนเน้นสอนด้านครีเอทีฟและการสร้างคอนเทนต์มากกว่าสอนปฏิบัติ เพราะโดยปกติอาจารย์นิเทศจะมี 2 แบบคือสายนักคิดสร้างสรรค์กับสายปฏิบัติที่เน้นเทคนิคและการใช้อุปกรณ์ ซึ่งความรู้ด้านเอเชียแปซิฟิกศึกษาตอนเรียนป.โทก็ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า สัญลักษณ์แบบไหนเหมาะสำหรับนำมาใช้ในบริบทของการสื่อคอนเทนต์นั้นๆ โดยเฉพาะรายการที่เกี่ยวข้องกับประเทศในภูมิภาคนี้
ส่วนตอนนี้ผมเป็นหัวหน้าหลักสูตร Innovative Media Production ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติ ถ้าตัดคำว่านานาชาติออกไป หลักสูตรนี้ก็มุ่งหวังให้ผู้เรียนคิดแบบอินโนเวทีฟ รู้จักสร้างนวัตกรรมสำหรับการผลิตสื่อในทุกด้าน ไม่ใช่แค่ทางเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ต้องรู้จักคิดพลิกแพลง คิดนอกกรอบ นำทุกอย่างรอบตัวบนโลกนี้มาทำคอนเทนต์หรือสร้างผลผลิตในแบบที่เรียกว่าคิดต่างอย่างสร้างสรรค์ ผมไม่อยากให้เด็กเข้าใจว่า การเรียนสาขานี้จะทำให้ได้เรียนกับเทคโนโลยีชั้นเลิศเพียงอย่างเดียว เพราะอันที่จริงไอเดียของตัวคุณเองนั่นแหละคือนวัตกรรม
ครูและบัณฑิตพันธุ์ใหม่สไตล์ม.กรุงเทพ
บัณฑิตพันธุ์ใหม่ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งที่ทำ ไม่ฝืน ไม่ใช่ทำเพื่อให้ได้คะแนนแล้วจบไป เราจึงต้องพยายามทำให้เขาเห็นว่า ถ้าคุณเข้ามาเรียนแค่ให้เสร็จๆ ไป โดยไม่สามารถสร้างทัศนคติที่ดีต่อสิ่งที่ทำได้ คุณจะไม่มีทางประสบความสำเร็จหรือมีความสุขกับสิ่งที่ทำ ในทางกลับกันถ้าคุณมีทัศนคติที่ดี คุณจะทำอะไรก็ได้และไม่มีวันมองว่ามันเป็นเรื่องยากเกินความสามารถ อีกอย่างคือบัณฑิตพันธุ์ใหม่ต้องไม่มุ่งหวังแค่ความสำเร็จปลายทาง เปรียบเทียบเหมือนเกมการแข่งขัน แม้เราจะไม่ได้รางวัล แต่ตลอดทางคุณอาจได้อะไรมากกว่ารางวัลเสียอีก
ส่วนครูพันธุ์ใหม่คือคนที่ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เหมือนตัวผมเองที่ทุกวันนี้ก็ยังสอนตัวเองในเรื่องที่สอนคนอื่นเหมือนกัน นอกจากนี้ครูพันธุ์เก่ามักคิดว่าตัวเองเป็นอาจารย์ ไม่ใช่ครู ไม่ง้อเด็ก สอนในห้องเสร็จก็พอ จากนั้นก็ประเมินให้คะแนนเด็กตามกฎเกณฑ์ไป แต่ครูพันธุ์ใหม่จะทำตัวเหมือนครูสมัยมัธยมที่ให้ความสนิทชิดเชื้อและใกล้ชิดกับเด็ก ให้คำปรึกษาแก่เด็กได้ทุกเรื่องทั้งในและนอกห้องเรียน มีความยืดหยุ่น หมายความว่ายังคงบทบาทความเป็นครู คอยแนะแนว แนะนำ อบรมสั่งสอน ขณะเดียวกันก็ทำตัวเป็นเพื่อนกับเด็กและช่วยเหลือเด็กเท่าที่เราช่วยได้ ทำให้เด็กชอบมาคุยและกล้าที่จะเข้าหาเรามากขึ้น บทบาทของครูพันธุ์ใหม่จึงไม่ต่างจากคำว่า “โค้ช” นั่นเอง
เพราะโค้ชจะไม่ใช่แค่สอนหน้ากระดาน แต่จะสอนเด็กในทุกๆ ด้านทั้งทักษะวิชาชีพและทักษะชีวิต นั่นแหละคุณสมบัติของ “ครูพันธุ์ใหม่สไตล์ม.กรุงเทพ”